บพค. จัดแข่งขัน Hackathon & Pitching หลักสูตร Coding & AI ภาคอีสาน ขานรับนโยบาย “ศุภมาส” รมว.อว. ปรับหลักสูตรพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานยุคใหม่ให้เด็กและเยาวชน
.
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน “Hackathon & Pitching E-SAN Thailand PMU-B Coding & AI Academy” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 24 มกราคม 2567 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์โฮเทล จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อํานวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้ทรงวุฒิด้านปัญญาประดิษฐ์ ดร.วิศิษฐ ทวีปรังษีพร ผู้ทรงวุฒิด้าน Frontier technology พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ Frontier technology และ อ.จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ Frontier SHA & AI เข้าร่วมงานเพื่อติดตามผลการแข่งขันรอบสุดท้ายของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการพัฒนาศักยภาพด้านโค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์
การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เกิดจากน้อง ๆ เยาวชนที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรโค้ดดิ้ง ภายใต้ “โครงการวิจัยโมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บูรณาการ Coding & AI สำหรับเยาวชน” ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของ Code Combat ซึ่งได้รับการรับรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และนวัตกรรมการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ ใน 5 กลุ่มสายอาชีพ ได้แก่ Blockchain Fintech, BCG Industrial-IoTs Factory, AR-E-Sport, Data Science และ Personal AI จำนวน 65 คน ซึ่งผ่านการอบรมและคัดเลือกมาจากเยาวชนกว่า 1,000 คน ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่การแข่งขันรอบสุดท้ายในงาน “Hackathon & Pitching E-SAN Thailand PMU-B Coding & AI Academy” โดยเยาวชนจะได้รับโจทย์จากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในแต่ละวิชาชีพ ได้แก่ บริษัท Code Combat, บริษัท Sun Smart Tech, บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท คลัสเตอร์คิท จำกัด, บริษัท BOTNOI Group, บริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด, Let’s Code Thailand และ มูลนิธิ Asia Foundation เพื่อชิงเงินรางวัลสาขาละ 100,000 บาท รวมทั้งหมด 5 ทีม และมีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ ซิลิคอนแวลลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาละ 1 คน
สำหรับทีมผู้ชนะที่ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 500,000 บาท ได้แก่ ทีม “Share Pao” (วิชาชีพ Blockchain Fintech), ทีม “MBP” (วิชาชีพ BCG Industrial-IoTs Factory), ทีม “ไหนก็ได้” (วิชาชีพ AR-E-Sport), ทีม “แมวส้ม” (วิชาชีพ Data Science) และ ทีม “ไม่มีตังค์” (วิชาชีพ Personal AI) โดยมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเพื่อไปศึกษาดูงานที่ซิลิคอนแวลลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 คน ได้แก่ นายวีรภัทร นามคีรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (วิชาชีพ Blockchain Fintech), นายปิติกร คล้ายสำเนียง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วิชาชีพ BCG Industrial-IoTs Factory), นายณัฐพงศ์ ตั้งเสถียรภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิชาชีพ AR-E-Sport), นายเมธี ยิ่งยงวัฒนกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิชาชีพ Data Science) และ นายสิทธัตกะ จรัสแสง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิชาชีพ Personal AI)
อย่างไรก็ตาม การแข่งขัน Hackathon & Pitching ในครั้งนี้ถือเป็นการปิดท้ายการแข่งขันเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน อายุระหว่าง 15 - 25 ปี ที่ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นผู้มีสมรรถนะสูงจากโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ภายใต้แผนงานพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีสมรรถนะและความรู้ ฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึง Coding โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ Building Coders (พื้นที่เขตภาคเหนือ), E-SAN PMU-B CODING & AI ACADEMY (พื้นที่เขตภาคเหนือ), Talent RAC (Talent Robotics, AI, and Coding) (พื้นที่เขตภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก และใต้), Braincode101 X AI-Builders (พื้นที่เขตภาคกลาง) และ Agri-Tech (พื้นที่เขตภาคกลางและตะวันออก)
บพค. ในฐานะหน่วยงานหลักในการสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญสู่อุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคต ได้มุ่งผลักดันการพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะและสมรรถนะสูงในด้านโค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์ อันสอดรับกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้แถลงแนวทางการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ ในงาน ”Future Thailand“ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ใน 4 ประเด็น จาก 6 ประเด็น ดังนี้
1) ปรับการเรียนการสอนและหลักสูตรที่จำเป็นต่อการทำงานยุคใหม่ เช่น AI, Data Science, Cloud, Coding, E-Commerce เป็นต้น
2) จัดทำหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้แบบ Experiential Learning และ Entrepreneurial Education เน้นการเรียนคู่กับการปฏิบัติ และสร้างผู้ประกอบการใหม่มากขึ้น
3) จัดทำและรับรองทักษะ หรือ skill transcript ระบุทักษะที่นักศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาในแต่ละปี
4) จัดทำระบบคลังหน่วยกิตกลาง (National Credit Bank) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต Life-long Learning ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปทุกช่วงวัย
โดยโครงการทั้ง 5 โครงการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของการปรับกระบวนการจัดการศึกษาและหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน การเรียนรู้จากการใช้งานจริง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลจากการฝึกอบรม การติดตามความก้าวหน้า การพัฒนา train the trainer และมีแผนผลักดันหลักสูตรเข้าสู่ระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) และคลังหน่วยกิตกลาง (National Credit Bank) ต่อไป
นอกจากนี้ แผนงานพัฒนาเยาวชนฯ ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานของกระทรวงฯ ในระยะเร่งด่วน (Quick Win) และเป็นของขวัญที่มอบความสุขให้แก่เด็กและเยาวชนเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ในงาน Play Fun Fest: PMU-B Coding Era 2024 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 ที่ผ่านมาอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจเรียนและต้องการเพิ่มทักษะเกี่ยวกับโค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์จากโครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการนี้ สามารถติดตามได้ที่ https://codingacademy.pmu-hr.or.th/ และสามารถติดตามโครงการต่าง ๆ ที่จะพัฒนาขึ้นอย่างเข้มข้นในปีงบประมาณ 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ บพค. ต่อไป